เหงือกปลาหมอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acanthus montanus (Nees) T.Anderson
วงศ์ : ACANTHACEAE
หมายเหตุ : ไม้ต่างถิ่น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2 ม. ลำต้นหนา หูใบเป็นหนามแข็ง ใบเรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ยาว 6-14 ซม. ปลายแหลมเป็นติ่งหนาม แผ่นใบหนา ขอบเรียบหรือจักเป็นติ่งหนาม ดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอดหรือซอกใบ ใบประดับรูปไข่ ยาว 7-8 ซม. ใบประดับย่อยยาวประมาณ 5 มม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่ โคนหนา กลีบคู่นอกยาว 1-1.3 ซม. กลีบคู่ในสั้นกว่าเล็กน้อย ดอกสีม่วงอ่อนหรือขาว รูปปากเปิด ยาว 3-4 ซม. หลอดกลีบหนา สั้น กลีบปากล่างยาวประมาณ 3 ซม. ปลายจัก 3 พู ตื้น ๆ มีขนสั้นนุ่มด้านนอก ด้านในมีแถบขนเป็นคู่ กลีบปากบนฝ่อ เกสรเพศผู้ 4 อัน ติดบนปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูหนา ยาวประมาณ 1.5 ซม. อับเรณูมีช่องเดียว รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 8 มม. มีขนเครา รังไข่มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เมล็ด ก้านเกสรเพศเมียยาวเลยเกสรเพศผู้เล็กน้อย ยอดเกสรแยก 2 แฉก ผลแห้งแตก รูปรี เป็นมันวาว ยาว 2.5-3 ซม. มี 4 เมล็ด ติดบนต่อม (retinaculum) รูปคล้ายไต แบน
ที่มา : สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ) ฯ น. 468 (ราชันย์ ภู่มา, 2559)