สมอไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia chebula Retz.
วงศ์ : COMBRETACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้นสูงได้ถึง 20 ม. เปลือกแตกเป็นร่องลึก เปลือกในสีน้ำตาลแดง ใบเรียงเกือบตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน ยาว 8-30 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมสั้น ๆ โคนรูปลิ่ม มน หรือเว้าตื้น แผ่นใบมีขนตามเส้นแขนงใบด้านล่าง ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ก้านใบยาว 1-4 ซม. มีต่อมหนึ่งคู่ใกล้โคนใบ ดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ยาว 4-10 ซม. แกนช่อมีขนสั้นนุ่ม ดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 มม. หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 มม. ปลายแยก 5 แฉก รูปสามเหลี่ยม ด้านในมีขนหนาแน่น รังไข่เกลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยาว 1.5-2 มม. ผลผนังชั้นในแข็ง รูปไข่กว้าง ยาว 2.5-4.5 ซม. เรียบหรือมี 5 สันตื้น ๆ เกลี้ยง ผลแก่สีดำ เมล็ดรูปรี ยาว 1.5-2 ซม. ผิวย่น
ที่มา : สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ) ฯ น. 403 (ราชันย์ ภู่มา, 2559)